ในบทเรียนนี้คุณจะได้เรียนรู้ว่า:
- การเมืองมีอิทธิพลต่อนโยบายของธนาคารกลางอย่างไร
- ทำไมเสถียรภาพทางการเมืองจึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนทั่วไปมองเห็นคุณค่า
- เหตุใดผลการเลือกตั้งที่คาดไม่ถึงจึงสามารถก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของตลาดอย่างมีนัยสำคัญ
ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เรารู้ว่า การเคลื่อนไหวที่รุนแรงที่สุดในตลาดการเงินต่างๆ เกิดจากเหตุทางการเมืองมากกว่าเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น การลงคะแนนเสียงในเรื่อง Brexit และการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ตลาดเกิดความผันผวนและส่งผลให้โอกาสในการซื้อขายเพิ่มมากขึ้น
มีความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างการเมืองและเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่การเมืองจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาดการเงิน แต่สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรและทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เราจะมาหาคำตอบกัน
ความไม่แน่นอนเท่ากับความผันผวน
การเลือกตั้ง อันเป็นเหตุการณ์ทั่วๆไปของประเทศส่วนใหญ่ อาจส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อตลาดการเงิน เทรดเดอร์อาจมีมุมมองเฉพาะต่อการเลือกตั้ง ในแง่ของความไม่แน่นอนและไร้เสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งสามารถนำไปสู่ความผันผวนที่เพิ่มขึ้นทั้งในตลาดหลักทรัพย์และตลาดฟอเร็กซ์
ลองมาวิเคราะห์กันว่า ตลาดเคลื่อนไหวอย่างไรในช่วงก่อนการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2559 ซึ่งมีฉันทามติออกมาว่า ฮิลลารี คลินตัน จะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐอเมริกา ผลการสำรวจความคิดเห็นโดยหน่วยงานที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่ ยกให้คลินตันมีคะแนนเป็นต่อโดนัลด์ ทรัมป์ ดังนั้น ตลาดจึงค่อนข้างเสถียร เพราะนักลงทุนมองว่า ทรัมป์เป็นผู้สมัครที่มีนิสัย 'คาดเดาได้ยาก' กว่าคลินตัน อย่างไรก็ตาม ชัยชนะของเขากลายเป็นเรื่องน่าประหลาดใจอย่างมากและนั่นนำไปสู่การเคลื่อนไหวที่มีนัยสำคัญของตลาด เพราะบรรดาเทรดเดอร์ต้องคาดเดาว่า การที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี จะส่งผลกระทบอะไรตามมาบ้าง
เนื่องจากโพลล์สำรวจความคิดเห็นที่น่าเชื่อถือส่วนใหญ่โน้มไปทางคลินตัน จึงดูเหมือนตลาดจะไม่พร้อมสำหรับชัยชนะของทรัมป์ สถานการณ์ที่คล้ายกันนี้เกิดขึ้นในการลงประชามติของชาวอังกฤษเกี่ยวกับสถานะการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งผลออกมาผิดคาด เพราะเสียงส่วนใหญ่โหวตให้ 'ถอนตัว' จึงทำให้เงินปอนด์อังกฤษลดค่าลงอย่างรุนแรงและนำไปสู่การคาดการณ์ว่าสหภาพยุโรปอาจสลายตัว เหตุการณ์ทั้งสองนี้แสดงให้เห็นถึงการปฏิเสธสถานะที่เป็นอยู่เดิมในระดับโลก นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความแม่นยำของการทำโพลล์สำรวจความคิดเห็นและการชี้วัดสถานการณ์
ความไม่แน่นอน ความไม่ไว้วางใจ และการขาดความเชื่อถือ สามารถนำไปสู่ความผันผวนของตลาดทีรวดเร็วยิ่งขึ้น
![]()
การเปลี่ยนแปลง ใช่ว่าจะได้รับการต้อนรับเสมอไป
การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมักจะมาคู่กับอุดมคติที่เปลี่ยนไป ซึ่งอาจหมายถึงวิธีการที่แตกต่างกันในการดำเนินนโยบายการเงินหรือการคลัง นโยบายทั้งสองประการ โดยเฉพาะประการหลัง สามารถส่งผลต่อตลาดการเงินได้อย่างมาก เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นหลังจากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งเนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่า นโยบายการคลังที่ผ่อนคลายลงจะบีบให้ธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
โดยทั่วไปแล้ว หลายคนเชื่อว่ายิ่งรัฐบาลใช้จ่ายมากเท่าไร เศรษฐกิจก็จะยิ่งเติบโตมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ในสถานการณ์เช่นนี้ ธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ อาจตัดสินใจดำเนินการโดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งสามารถบรรเทาการลดลงของค่าเงินได้ นอกจากนี้ หลายคนเชื่อว่า พรรคการเมืองหรือบุคคลที่ถูกมองว่ามีความใส่ใจทางการเงินมากกว่า หรือให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า จะสามารถกระตุ้นทั้งตลาดหุ้นและค่าเงินได้ ดังนั้น ในกรณีที่รัฐบาลซึ่งถูกมองว่าเน้นนโยบายเศรษฐกิจ เสี่ยงต่อการสูญเสียอำนาจ บรรดาเทรดเดอร์อาจจะหวาดหวั่นและอาจเทขายสกุลเงินหรือหุ้นออกมาได้
ค้นหาเสถียรภาพ
เสถียรภาพเป็นสิ่งที่ตลาดการเงินพึงพอใจ ตามที่เราได้กล่าวไปแล้ว ความไม่แน่นอนเป็นสิ่งที่สามารถส่งผลกระทบเชิงลบต่อตลาดหุ้นหรือค่าเงินได้ อย่างไรก็ตาม ในทางการเมือง มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเสมอไป ลองนึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2555 เมื่อยูโรโซนใกล้จะล่มสลาย ประเทศกรีกเกือบถังแตก และนักการเมืองไม่สามารถหาทางออกที่ชัดเจนได้ สถานการณ์ที่คล้ายกันนี้ก็เกิดขึ้นในปี 2558 เมื่อประเทศ(อังกฤษ)อยู่ในช่วงที่จะออกจากสหภาพยุโรป มันทำให้เกิดการเคลื่อนไหวที่รุนแรงในตลาด เช่น DAX, CAC40 และตลาดอื่นๆ อีกมากมาย
กว่าที่ตลาดจะกลับมามีเสถียรภาพได้ ก็ตอนที่มีการบรรลุข้อตกลงทางการเมืองในกรุงบรัสเซลส์ แม้ว่ามาตรการที่วางไว้ยังห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบ แต่บรรยากาศแห่งความมั่นคงก็ทำให้ตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างที่คุณเห็น การเมืองอาจส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อตลาดการเงินได้ นั่นเป็นเหตุผลที่ว่า การติดตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างใกล้ชิด ถือเป็นสิ่งที่ดี